วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาไทยในปัจจุบัน( EK ๗๐๓)

การศึกษาไทยในปัจจุบัน
หน้าที่หลักในการจัดการศึกษาของประเทศไทยของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งนโยบายด้านการศึกษาจากพรรคการเมืองในประเทศไทย ทำให้สรุปได้ว่า ภาพอนาคตการศึกษาไทย การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เป็นการเพิ่มต้นทุนทางสังคมให้แก่ประเทศ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการจัดการศึกษา โดยเน้นให้เด็กเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข มีคุณธรรม อาศัยการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนเกิดการบูรณาการวิชา ต่างๆเข้าด้วยกันเป็นสหวิทยาการ
เพื่อให้การศึกษาสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความต้องการของผู้เรียน และชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด และเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จึงต้องมีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต นอกจากนั้นในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับ การดำเนินชีวิต และเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีบทบาทอย่างยิ่งในระบบการศึกษาในอนาคต ซึ่ง เสน่ห์ แตงทอง (2542, หน้า 27)
อย่างไรก็ตาม ปรัชญาหลักๆ ของแผนการ ศึกษาแห่งชาติมักจะเน้นและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หรือกรอบของการบูรณาการร่วมกันในเรื่องของการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆเช่น
*   การพัฒนาคน จะเน้นการพัฒนาให้เป็นคนเก่ง ดี มีความสุข มีความภูมิใจในความเป็นไทย รวมทั้งมีความศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยฯ รังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
*  การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จะมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา
*  การพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรมจริยธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
*  การพัฒนากำลังคน ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ภาคอุตสาหกรรมบริการ ภาคเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ โดยมีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
*  การมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว เป็นต้น
*  การเตรียมประเทศไทยให้เดินหน้าไปสู่ความพร้อมในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยอย่างน้อยที่สุดที่จะต้องทำในเวลานี้คือ ควรจะต้องมีการเร่งรัดกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษาในระดับต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ระดับอุดมศึกษาได้จัดทำและประกาศใช้แล้วคือ TQF (Thai Qualifications Framework หรือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ) และต้องไปเน้นระดับอาชีวศึกษาต่อไปด้วย ขณะเดียวกันต้องมีการผลักดันให้กลุ่มประเทศอาเซียนมี TQF กลางเกิดขึ้นด้วย (ประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๓/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒,จาก http://www.moe.go.th/websm/2009/aug/292.html)
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ไม่สามารถจะจำกัดอยู่แค่การ ให้การศึกษาได้เท่านั้น รายงานการพัฒนาโลกได้ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ภาครัฐจะต้องคำนึงถึง 3 ประการคำถามคือ 1) โอกาส 2) สมรรถนะ และ 3) โอกาส
เป้าหมายสำคัญของการบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตจึงเป็น หัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยกรอบนโยบายของรัฐจะช่วยสนับสนุนในการพัฒนาทุน มนุษย์แก่เยาวชน เพื่อให้สามารถก้าวผ่านช่วงเปลี่ยนในชีวิตของเยาวชนไปได้ และพร้อมเป็นกำลังสำคัญ ของประเทศชาติต่อไป ดังแสดงให้เห็นในภาพประกอบที่ ๑
-------ภาพประกอบที่ ๑ “เลนส์เยาวชน” ชี้ให้รัฐบาลเห็นถึงถึงความสำคัญของช่วงเปลี่ยนของเยาวชนวัยเรียนหัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ที่มา สุภัทร ชูประดิษฐ์ (นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการวิจัยและพัฒนาการศึกษา – แขนงวิชาการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงาน (CELS) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จาก http://kc.hri.tu.ac.th/index.php
ปัจจัยภายนอกกับแนวโน้มการศึกษา
ปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อแนวโน้มของการศึกษาในประเทศ แท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงเรื่องของกระบวนการสอน ครูผู้สอน หรือตัวเด็กเองเท่านั้น แต่รวมไปถึงปัจจัยภายนอกที่สำคัญและมีผลกับความสำเร็จและการพัฒนาของการศึกษาในประเทศ จะพัฒนาได้ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด จะเจริญทัดเทียมหรือมากกว่าประเทศอื่นๆได้นั้นจึงจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ศึกษาปัจจัยภายนอกต่างๆด้วย ดังเช่น ๕ ประการที่สำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มของการศึกษาไทยในอนาคต ดังต่อไปนี้
๑. ปัจจัย ด้านเทคโนโลยี
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีผลต่อการกำหนดคุณสมบัติและคุณภาพของแรงงานใน อนาคต เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการขนส่ง เทคโนโลยีการผลิต นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องมีการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอน และปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
๒. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อตลาดแรงงานและ ตลาดการศึกษา เนื่องจากการกำหนดลักษณะของแรงงานที่ต้องการ อาทิ เศรษฐกิจ ใหม่ จะแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น การศึกษาต้องพัฒนาคนให้มีทักษะการทำวิจัย ให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ การเปิดเสรี ทางการค้าและการลงทุน เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า และเงินลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ต้องลดการกีดกันการแข่งขันเท่านั้น ยังต้องแข่งขันกันด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะความสามารถที่หลากหลาย เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ การบริหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษาที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
๓. ปัจจัยด้านระบบราชการ
การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเคลื่อนไป อย่างยากลำบาก เนื่องด้วยระบบราชการเป็นอุปสรรค ซึ่งเกิดจาก ความล่า ช้าในการประสานงาน เนื่องจากการทำงานตามระบบราชการไทย มักทำงานแบบต่างคนต่างทำไม่ไปในทิศเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีลักษณะของการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางมากเกินไป การทำงานแบบราชการ ที่ยึดกฎระเบียบตายตัว ขาดความยืดหยุ่น และเอื้อต่อการปฏิบัติงานของผู้บริหารการศึกษาและครูบางส่วนที่ไม่ยอมปรับ ตัว
๔. ปัจจัยด้านการเมือง
กล่าวกันว่า การปฏิรูปหรือพัฒนาการจัดการศึกษาจะสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับการเมืองมากกว่าแนวทางและวิธีการ แต่หากการเมืองไทยมีเงื่อนไขบางประการที่เป็นอุปสรรค จะส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จเท่าที่ควร บางครั้งผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งจึงมิใช่ผู้มีความรู้ในด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ความไม่สอดคล้องของเป้าหมายของการ จัดการศึกษากับเป้าหมายทางการเมือง เป้าหมายของนักการเมืองหลายคนคือ ต้องการคะแนนนิยม จึงมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ไม่ดำเนินนโยบายที่ให้ผลในระยะยาว เนื่องจากเสี่ยงที่จะทำให้ตนเองไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายความรวมถึงนโยบายการศึกษา ดังนั้นนักการเมืองจึงเลือกดำเนินนโยบายที่เห็นผลในระยะสั้น เพื่อทำให้ตนเองได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง อันเป็นอุปสรรคยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาไทย
๕.   ปัจจัยด้านวัฒนธรรม
สังคมไทยมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหลาย ประการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไทย ดังเช่น การขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม สังคมไทยในปัจจุบันขาดความเหนียวแน่น ขาดความร่วมแรงร่วมใจ คนในสังคมจึงมองการศึกษาว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับตนเอง รักความสนุกและความสบาย คนไทยส่วนใหญ่สนใจความบันเทิงมากกว่าการแสวงหาความรู้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
อีกทั้งสังคมไทยยังมีลักษณะสังคมอุปถัมภ์ เห็นแก่พวกพ้องมากกว่าส่วนร่วม ผู้ที่มีอำนาจมักแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยที่ประชาชนไม่กล้าขัดขวาง เพราะต้องพึ่งพาอาศัย ดังนั้น เมื่อมีการกระจายอำนาจทางการศึกษา อาจกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพลได้หากควบคุมไม่ดี (ดร. เกรียง ศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์,
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)
แนวโน้มของการศึกษาไทย
การวิเคราะห์การศึกษาในประเทศภายใต้การใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีกทั้งความพยายามของทุกส่วนในการมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาในประเทศที่ผ่านมา นั้นสามารถมองให้เห็นถึงสภาพที่ยังไม่มีการพัฒนาอย่างชัดเท่าทีควร จึงสามารถแบ่งออกได้เป็นแนวโน้มในอนาคตเป็น๒ ด้านในด้านบวกและด้านลบ ต่อไปนี้
แนวโน้มด้านบวก
๑. หลักสูตรใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก          จากการเปลี่ยนแปลงและการ แข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้คนในสังคมต้องการเพิ่มความรู้ความสามารถให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงหันมาสนใจศึกษาต่อในหลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคมสถาบันการศึกษาจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตร ใหม่ ๆ อาทิ หลักสูตรที่บูรณาการระหว่างสองศาสตร์ขึ้นไป เช่น ระดับอาชีวศึกษาหลักสูตรเดียวจะมีหลายสาขาวิชา เรียนช่างยนต์จะผนวกการตลาดและการบัญชีเข้าไปด้วย เป็นต้น หลักสูตรที่ให้ปริญญาบัตร 2 ใบ และมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา
๒. หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น           เนื่องจากสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการการศึกษาที่เป็นภาษาสากลมีมากขึ้น ที่สำคัญการเปิดเสรีทางการศึกษา ยังเป็นโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย และเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้หลักสูตรการศึกษานานาชาติมีแนวโน้มได้รับความนิยมมาก ขึ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เรียนที่มีฐานะดี
๓. การจัดการศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น           สภาพโลกาภิวัตน์ที่ มีการเชื่อมโยงในทุกด้านร่วมกันทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ กฎกติกา การดำเนินการด้านต่าง ๆ ทั้งการค้า การลงทุน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมต่อถึงกัน ประกอบการเปิดเสรีทางการศึกษา ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลหลักสูตรการเรียนการสอน บุคลากรด้านการสอน หลักสูตร จากสถาบันการศึกษาต่างประเทศเข้าสู่ไทย อันมีผลทำให้เกิดการเปรียบเทียบและผลักดันให้สถาบันการศึกษาไทยต้องพัฒนาการ จัดการศึกษาที่มีความเป็นสากลที่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับนานาประเทศของไทย ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมในระดับสากล
๔. ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาลดลง          เนื่องจากสภาพการ เรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกระแสระดับโลกเกิดขึ้นควบคู่กับคลื่น ประชาธิปไตยแผ่ขยายวงกว้างถึงไทย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ส่งเสริมการเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อีกทั้งสภาพการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม อาจเป็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาจะลดลงในกลุ่มสถาบันการ ศึกษาของรัฐ ส่วนการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาเอกชน ผู้เรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยอาจเข้ารับบริการทางการศึกษาได้ลดลง เนื่องจากค่าเล่าเรียนแพง
๕. โอกาสรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น          เมื่อเปิด เสรีทางการศึกษา จะก่อเกิดการแข่งขันในการจัดการศึกษาทั้งจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่าง ประเทศมากขึ้น หากพิจารณาในแง่บวก การเปิดเสรีทางการศึกษา เป็นการสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องด้วยสถาบันแต่ละแห่งจะแข่งด้านคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษา คุณภาพการศึกษาจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปิดเสรีทางการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาต่างชาติเข้ามาเปิดการเรียนการสอน จึงเป็นแรงกดดันให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น
แนวโน้มด้านลบ
๑. การเพิ่มช่องว่างด้านคุณภาพในการจัดการศึกษา          แม้ว่าสภาพ การแข่งขันทางการศึกษาจะเป็นแรงผลักให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น แต่เนื่องจากทรัพยากรตั้งต้นของแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถและปริมาณของบุคลากรการศึกษา งบประมาณ เงินทุน เทคโนโลยี สถานที่ ความมีชื่อเสียง ฯลฯ ส่งผลให้โอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาย่อมแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก หรือสถาบันการศึกษาที่ยังไม่มีความพร้อม/มีทรัพยากรตั้งต้นไม่มาก ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาคุณภาพมากนัก
๒. การผลิตบัณฑิตเกินความต้องการของตลาด          เนื่องจากความต้อง การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีสูงขึ้น และการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ต้องหาเลี้ยงตนเอง มีอิสระในการบริหารและเปิดหลักสูตรเพื่อหาผู้เรียนเข้าเรียนให้ได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบระยะยาวคือ มีบัณฑิตจบเป็นจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สามารถรองรับได้หมด โดยกลุ่มแรงงานระดับอุดมศึกษาที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่จบจากสาขาที่ตลาดแรงงาน ต้องการ จะถูกผลักสู่แรงงานนอกระบบ หรือหาทางออกโดยเรียนต่อระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจก่อเกิดภาวะแรงงานระดับปริญญาโทและเอกไม่มีคุณภาพและล้นตลาดตามมา เช่นกัน
๓. การสอนทักษะการคิดและทักษะทางอารมณ์ยังไม่มีคุณภาพ           สภาพ เศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขัน ทำให้การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาทางวิชาการเป็นสำคัญ ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้เท่าที่ ควร เนื่องจากการเรียนการสอนยังมุ่งสอนให้ผู้เรียนคิดตามสิ่งที่ผู้สอนป้อนความ รู้มากกว่าการคิดสิ่งใหม่ ๆ ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานมาก จนส่งผลต่อการพัฒนาบุคคลในด้านอื่น เช่น การพัฒนาเชิงสังคม รวมถึงการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในกิจวัตรประจำวันหรือใช้ในการเรียนการสอน ทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ลดลง ส่งผลให้ช่องทางการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และทักษะทางสังคมของผู้เรียนลดลงด้วย
๔. การสอนคุณธรรมจริยธรรมยังไม่มีคุณภาพ           แนวคิดของทุนนิยมที่ มุ่งแข่งขันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้คนต่างมุ่งแข่งขัน และพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบกับสถาบันการศึกษาจำนวนมากมุ่งพัฒนาความรู้ทางวิชาการ และประเมินผลการเรียนที่ความสามารถทางวิชาการ จนอาจละเลยการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้ การไม่ได้มีผู้สอนที่รู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคุณธรรมจริยธรรมโดยตรงหรือมี คุณภาพ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการสอนของวิชาคุณธรรมจริยธรรมได้
๖. การสอนภาษาต่างประเทศยังไม่มีคุณภาพ          ยิ่งก้าวสู่โลกไร้พรมแดนมากขึ้นเท่าใด ผู้มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกใช้ติดต่อสื่อสาร เจรจาต่อรอง การค้า การศึกษา ฯลฯ ย่อมมีความได้เปรียบ ทั้งในเรื่องการติดต่อสื่อสารและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ การสอนภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศของไทยยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแม้ปัจจุบันจะตื่นตัวมากขึ้น แต่ยังไม่ก้าวหน้าไปมากเท่าที่ควร เพราะทรัพยากรด้านบุคลากรสอนภาษาต่างประเทศนี้ขาดแคลนมาก (ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, แนวโน้มการศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า  วันที่ : 14 มิถุนายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้)
สรุป
ประเทศไทยยังต้องการ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารให้มีประสิทธิภาพโปร่งใสและเป็นธรรม การกระจายงบประมาณที่เป็นธรรม ปฏิรูปการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศ โดยความร่วมแรงร่วมใจทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะด้านการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนก็ควรให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองของผู้เรียนและมีคุณภาพที่ใช้งานได้ เช่น อาจจัดโครงการที่มุ่งพัฒนาครูอาจารย์ ผู้บริหารการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้คนเก่ง คนดี อยากเข้ามาเป็นครู และสร้างความมั่นใจ และมั่นคงในอาชีพครูมากขึ้น เช่น ปฎิรูปการฝึกหัดครู ปฎิรูปการคัดเลือก การทำงานแบบส่งเสริมความพอใจและความก้าวหน้าของครูด้วย
ผู้เขียนมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า หากวางรากฐานพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่แรกเกิด และพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถด้านต่างๆประเทศไทยเราก็จะมีผู้ที่เข้ามาร่วมพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างแน่นอน ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถเต็มตามศักยภาพมีพัฒนาการที่สมดุลทั้งปัญญา จิต ใจ ร่างกายและสังคม รวมไปถึงการอบรมจากผู้ปกครองแนะนำบุตรหลานอย่างถูกต้อง ให้เลือกเรียนหรือ อบรมบ่มนิสัยให้รักการเรียนรู้ทุกรูปแบบ รักการอ่าน แสวงหาความสามารถพิเศษ ที่ชื่นชอบและโดดเด่นของตัวเอง เป็นการทำให้เด็กรู้สึกรักและตั้งใจเรียนยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามควรต้องศึกษาเพื่อให้เข้าถึงผู้เรียนด้วยเพื่อให้ได้รับพัฒนาการอย่างแท้จริง ควรให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งปลูกฝังการรักที่จะเรียนรู้ต่อไปอันเป็นคุณสมบัติที่ สำคัญในโลกยุคข้อมูลข่าวสารหรือสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
........................................................
บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.   แนวโน้มการศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า.  (ออนไลน์)  เข้าถึงได้  จาก  http://blog.eduzones.com/drkrieng/7005.  ค้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓,
                       
ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง.  บทความการศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี.   ๒๕๕๒   
          วันพุธที่ 22 กรกฏาคม ๒๕๕๒.  ค้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓,

สุภัทร ชูประดิษฐ์. ศักยภาพเยาวชน มิติทางการศึกษากับการพัฒนาทุนมนุษย์. (ออนไลน์)  เข้าถึง  ได้ จาก http://kc.hri.tu.ac.th/index.php.  ค้นเมื่อวันที่                             
                      
อภิสิทธิ์  กฤษเจริญ.   การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนเอกชน:   คาทอลิกสังกัดสังฆมณฑลในทศวรรษหน้า. 
                      

1 ความคิดเห็น: